วิธีดูแลกระดูก ป้องกันกระดูกพรุน
วิธีดูแลกระดูก ป้องกันกระดูกพรุน ภัยเงียบที่ไม่มีอาการใดๆ ให้ระวัง แต่จะเกิดรู้ก็ต่อเมื่อกระดูกหักแล้วหรือกระดูกสันหลังทรุดก็จะทำให้ปวดหลัง หลังค่อม ดูเตี้ยลง เคลื่อนไหวได้ลดลง ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนบางรายอาจมีภาวะอาการฟันหลุดได้ง่ายอีกด้วย
นายปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบที่ไม่มีอาการใดๆ ให้ระวัง แต่จะเกิดรู้ก็ต่อเมื่อกระดูกหักแล้วหรือกระดูกสันหลังทรุดก็จะทำให้ปวดหลัง หลังค่อม ดูเตี้ยลง เคลื่อนไหวได้ลดลง ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนบางรายอาจมีภาวะอาการฟันหลุดได้ง่ายอีกด้วย โดยโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และโรคกระดูกบาง (Osteopenia) เป็นภาวะที่มีปริมาณแร่ธาตุที่สำคัญคือแคลเซียมในกระดูกลดลง ร่วมกับความเสื่อมของเนื้อเยื่อที่ประกอบเป็นโครงสร้างภายในกระดูก ทำให้เนื้อหรือมวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง จึงเปราะและแตกหักได้ง่าย โดยบริเวณที่พบการหักของกระดูกได้บ่อย คือ ข้อมือ สะโพก และสันหลัง สำหรับสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุน การเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก วิธีที่ดีที่สุดคือ การเร่งสร้างและสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรงหนาแน่นอยู่เสมอ โดย 1.การเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และสารอาหารที่ให้แคลเซียมสูงและวิตามินดีสูง อย่างเช่น นม ผักใบเขียว ปลากรอบ หรือปลาเล็กปลาน้อยที่ทานได้ทั้งเนื้อและกระดูก เป็นต้น โดยเฉพาะ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีกระดูกหัก ร่างกายจะต้องการแคลเซียมมากกว่าคนปกติเพื่อเพิ่มมวลกระดูก 2.ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาทิ ว่ายน้ำ เดินเร็ว วิ่งเบาๆ (จ๊อกกิ้ง) เพื่อสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายและกระดูก และควรออกกำลังกายที่ต้องมีกระแทกบ้าง เช่น มีการวิ่ง การกระโดดในเด็กหรือวัยรุ่น เพื่อกระตุ้นให้กระดูกมีการสะสมแคลเซียมมากขึ้นและควรออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือโดนแดดบ้าง 3.งดเว้นการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ 4.ควรรับแสงแดดอ่อนๆ โดยเฉพาะในช่วงเช้า หรือเย็นเพื่อให้ร่างกายได้รับการกระตุ้นสร้างวิตามินดีที่มีคุณภาพ (Active form) เพื่อดึงแคลเซียมไปใช้ในการสร้างมวลกระดูก 5.หมั่นดูแลสุขภาพจิตให้สดใสแข็งแรงควบคู่กับสุขภาพกาย
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย กล่าวทิ้งท้ายว่า วิธีการรักษาโรคกระดูกพรุนนั้น ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่เเน่ชัด เป็นเพียงการชะลอการเสื่อมหรือสูญเสียของมวลกระดูก ด้วยวิธีการใช้ยา เช่น เเคลเซียม วิตามินดี และยาลดการทำลายกระดูก ซึ่งยาลดการทำลายกระดูกเป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรหาซื้อยารับประทานเอง นอกจากนั้นยังมีการให้ฮอร์โมนทดแทน รวมไปถึงการระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือการหกล้มที่อาจจะมีโอกาสทำให้กระดูกหักได้ จาก สสส.